เตาอั้งโล่ แห่งบ้านช่างหม้อ
กระบวนการปั้นเตา
1. การหาแหล่งดิน (Clay source) มีความสำคัญต่อการผลิตเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงมาก หากคัดเอาดินทั่วๆ ไป ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมมาผลิตเตา จะทำให้เกิดปัญหาเช่น ปั้นขึ้นรูปได้ยาก เกิดการแตกร้าว ไม่คงทนเมื่อเผาเสร็จแล้ว จากการทดลอง และประสบการณ์ ของช่างทำเตาตั้งแต่อดีต พบว่า ดินเหนียว ที่เกิดจาก ตะกอนในที่ราบต่ำ หรือ ตามลำน้ำ เป็นวัตถุดิบที่ดีมากเหมาะสำหรับปั้นเตา ลักษณะของดินที่นำมาปั้นเตา โดยทั่วไปนิยมใช้ดินเหนียวสีเทาเข้ม ในการปั้นเตา เนื่องจากดินลักษณะนี้สามารถหลอมละลายได้ที่อุณหภูมิไม่สูงนัก นอกจากนั้น ในดินเหนียว ยังประกอบด้วยสารอินทรีย์ ต่างๆ ทำให้เกิดรูพรุนในเนื้อเตา เพิ่มความเป็นฉนวน ขนาดของเมล็ดดินเหนียว ก็ควรจะมีขนาดที่พอเหมาะ หาก มีเมล็ดขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก ก็มีโอกาส เกิดการแตกร้าวได้ง่าย
2. การเตรียมดิน การหมักดินเหนียว ดินเหนียวที่จะนำมาใช้ต้องสะอาด ไม่มี เศษไม้ เศษหิน มีแต่ดินเหนียวล้วนๆ ถ้าเป็นก้อนใหญ่ ก็ควรทุบให้ย่อยเป็นก้อนเล็กๆ ก่อนหมักควรตากไว้ให้แห้ง อย่างน้อย 1 วัน แล้วนำลงบ่อหมัก แช่ไว้ในน้ำ นานประมาณ 12-24 ชั่วโมง จนดินอิ่มน้ำอย่างทั่วถึงเตรียมไว้ผสม การนวดและผสมดิน นำดินที่หมักแล้วมานวดผสมกับแกลบดำ จะใช้เครื่องนวดจนเข้ากัน โดยทั่วไปจะใช้ดินเหนียว 2 ส่วน ต่อขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ขณะนวดผสมดินจะพรมน้ำตามไปด้วย เพื่อให้นวดได้ง่ายขึ้น ส่วนผสมที่เข้ากันดีแล้ว ให้นำมากองเก็บไว้ อาจจะแบ่งเป็นก้อนๆ ขนาดพอเหมาะที่จะทำเตา หรือ แบ่งทีหลังก็ได้ แล้วปิดด้วยพลาสติกหากยังไม่ใช้ทันที เพื่อไม่ให้ดินผสมแห้งเกินไป ชาวบ้านช่างหม้อนิยมนวดดิน 2 ครั้งเพื่อให้ได้ดินที่ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันเหมาะสำหรับการปั้นเตา (การผสมแกลบดำเพื่อไม่ให้ดินที่จะนำมาปั้นเตาไม่เหนียวจนเกินไป อีกทั้งยังมีส่วนช่วยระยายความร้อนเมื่อใช้งานเตา)แม่แบบพิมพ์ สำหรับทำเตา ทำจากปูนซีเมนต์มีขนาดลดหลั่นกันไปตามขนาดของเตา ใช้สำหรับทำตัวเตา ก่อนทำการปั้นและใช้แม่พิมพ์ ทุกครั้ง จะต้องโรย ขี้เถ้า รอบๆแม่พิมพ์ก่อน เพื่อป้องกัน ดินเหนียวติดแม่แบบ และปั้นไม่ได้รูปทรง
3 การปั้นขึ้นรูปเตา นำดินที่ผ่านการนวดแล้วใส่ลงในแม่พิมพ์ภายนอกซึ่งวางอยู่บนแท่น แล้วใช้มือตบปั้นขึ้นรูปเป็นทรงของเตาโดยให้มีความหนา และขนาด ภายในเป็นไปตามกำหนด แล้วตกแต่งผิวด้านในเตา เมื่อได้ที่แล้ว ถอดแบบ นำเตาไปตากแดด ผึ่งลมให้แห้ง หมาดๆ ประมาณ 1/2 วัน
4. การทำรังผึ้ง นำดินที่นวดผสมแล้วใส่ลงในแบบพิมพ์ ใช้มือกดดินให้เต็มแบบ ใช้โลหะบาง ปาดเอาดินส่วนที่เกินออก ทิ้งไว้ให้แห้งพอหมาดๆ ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้แม่แบบเจาะรู เจาะตามรูปแบบที่ต้องการ จากนั้นนำตากแดดอีก 1-2 วัน แล้วนำไปเผาจนสุกเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
5 การติดหูเตา นำเตาที่แห้งหมาดจากขั้นตอนการขึ้นรูปมาติดหูโดยนำดินที่ใช้สำหรับปั้นเตามาติดไว้บริเวณขอบของเตาที่แห้งหมาด 3 จุด (เพื่อทำเป็นเส้าเตา) เว้นระยะห่างให้เท่าๆกัน ปล่อยผึ่งลมให้แห้งประมาณ 1/2 วัน
6. การปาดตกแต่งและเจาะประตูเตา นำเตามาปาดตกแต่ง ปากเตา เส้าเตา และเจาะช่องลมโดยใช้มีดปาดเตาในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษแล้วนำเตาที่ปาดตกแต่งแล้วไปตากแดด จนแห้งสนิท ใช้เวลา ประมาณ 1-2 วัน จะได้เตาที่พร้อมจะนำไปเผา
7. การเผาเตาหลังจากตกแต่ง และตากแห้งแล้ว อาจจะตกแต่งสีเพื่อความสวยงาม แล้วนำมาเรียงเป็นชั้นในเตาเผา การเผาเตาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
7.1 เผาแบบปิด ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ใช้เวลาประมาณ 10-12 ชม.
7.2 การเผาเตาแบบเปิด ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ใช้เวลาประมาณ 10-12 ชม.
หลังจากนั้นทิ้งไว้ให้เตาเย็นตัว ใช้เวลาประมาณ 12 ชม.แล้วค่อยนำออกจากเตา ตรวจสอบสภาพทั่วไป แล้วนำไปบรรจุถังสังกะสีต่อไป
8 การนำเตาใส่ถัง ใส่รังผึ้ง และ ยาฉนวน
8.1 การนำเตาใส่ถัง:
- เตรียมถังที่จะใส่ เจาะช่องให้ตรงและพอดี กับช่องไฟของเตา
- เอาดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ โดยใช้ดินเหนียว 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 10 ส่วน ย่ำให้เข้ากันดีแล้ว ยกเตาลงถังเอาดินผสมที่เตรียมไว้ใส่ลงด้านข้างเตา แล้วอัดให้แน่น ที่ขอบเตาติดกับถังสังกะสี ใช้ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน ผสมทรายละเอียดร่อน 1 ส่วน ยาที่ขอบเตา และขอบช่องไฟ หน้าเตา
8.2ใส่รังผึ้งและยาฉนวน วางรังผึ้งให้ได้ระดับ ในตัวเตา แล้วนำดินที่ผสมไว้ (โดยใช้ดินเหนียว 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 5 ส่วน) ย่ำให้เข้ากันดีแล้ว ยาภายในเตา รอบๆ บริเวณที่รังผึ้งสัมผัสกับผนังเตาทั้งด้านบนและด้านล่าง
Media
แสดงความคิดเห็น
***กรุณาแสดงความคิดเห็น ด้วยความสุภาพ เคารพต่อสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีของสังคม